บริษัท เอ็นริช ฟ็อกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์รวมเครื่องกำจัดไรฝุ่น เครื่องกำจัดแมลง เครื่องกำจัดเชื้อโรค น้ำยาฆ่าเชื้อโรค อันดับ 1 ในประเทศไทย

ENRICHFOGGERTHAILAND

ปลอดภัยจากโรค ภูมิแพ้

ภูมิแพ้ จาม

โรค ภูมิแพ้ (Allergy)

เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล คันรอบดวงตา ระคายเคืองทั่วใบหน้า มีผดผื่นคันแดงตามผิวหนัง ผิวหนังลอกอักเสบ หรืออาจแพ้รุนแรงถึงขั้นท้องร่วง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหลังจากที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการแพ้ต่อสารแตกต่างกันไป เพราะโดยทั่วไปแล้ว สารส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยแพ้ เป็นสารที่ไม่ทำปฏิกิริยาหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายคนส่วนใหญ่ แต่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่อผู้ที่แพ้เท่านั้น

โรคนี้เป็นโรคยอดนิยมที่พบ ยิ่งในสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ฝุ่น ควัน สารพิษ ขยะ น้ำเน่าเสีย สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสในการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้มากยิ่งขึ้น

ส่วนอาการแพ้ต่อสารที่พบมากในปัจจุบัน ได้แก่ ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหาร ภูมิแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งแต่ละโรคเกิดจากสาเหตุและแสดงอาการที่แตกต่างกันไป

อาการของโรคภูมิแพ้

สภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละคนมีโอกาสเกิดอาการแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไปด้วย โดยอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อาหาร แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
IgE Mediated Reaction เกิดอาการแพ้เฉียบพลันทันทีที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
Non IgE Mediated Reaction ค่อย ๆ เกิดอาการภายหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 4  ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น

ภูมิแพ้อาหาร อาการสำคัญของผู้ที่แพ้อาหาร มักจะเกิดขึ้นกับระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร เช่น ไอ จาม น้ำตาไหล คัดจมูก มีอาการบวมแดงหรือคันบริเวณปาก ลิ้น ลำคอ หน้าซีด ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว รู้สึกอ่อนล้า หมดแรง หายใจลำบาก ความดันลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลมพิษ มีผื่นแดงคันขึ้นทั่วตัว ปวดท้อง ท้องเสีย ขับถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน
แม้จะมีอาการแสดงบางอย่างที่ใกล้เคียงกับโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) แต่การแพ้อาหารจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้ในอาหารชนิดนั้นเท่านั้น คนทั่วไปจะไม่ปรากฏอาการดังกล่าว ในขณะที่โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากอาหารที่เจือปนเชื้อโรคหรือสารพิษ และทำปฏิกิริยาต่อร่างกายคนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ การวินิจฉัยจะเป็นไปตามขั้นตอน เช่น การตรวจสอบประวัติการแพ้ของผู้ป่วย และตรวจสอบว่าผู้ที่รับประทานอาหารชนิดเดียวกันเกิดอาการเดียวกันหรือไม่

ภูมิแพ้อากาศหรือภูมิแพ้จมูก จะมีอาการที่เกิดกับจมูก บริเวณโพรงจมูก และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก หลังผู้ป่วยหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะขับสารเพื่อทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ คือ จามบ่อย คันและมีการอักเสบบวมทั่วใบหน้า รอบดวงตา จมูก ปาก และลำคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ หายใจไม่ออก หอบหืด ไอ เจ็บคอ หูอื้อ ตาแดง ประสาทรับกลิ่นทำงานได้แย่ลง และอาจมีไข้ร่วมด้วย

ภูมิแพ้ผิวหนัง จะเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังบริเวณที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยจะเกิดการคัน มีผื่นแดง มีรอยนูนแดง หรือตุ่มบวมอักเสบ เป็นแผลหรือผิวลอกออกได้ง่ายเมื่อเกา อาจลุกลามอักเสบเป็นวงกว้างจนกลายเป็นลมพิษหรือสะเก็ดเงินได้

ภูมิแพ้ตา มีอาการแพ้ที่แสดงออกทางดวงตา เช่น คันหรือระคายเคืองบริเวณดวงตา แสบตา ตาแดง ตาบวม เปลือกตาอักเสบบวม มีน้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีก้อนหรือสะเก็ดเม็ดทรายติดอยู่ในดวงตา ตามีความอ่อนแอ ไวต่อแสง แสงจ้าหรือแม้แต่แสงสว่างปกติก็อาจสร้างความลำบากในการมองเห็น สร้างความรำคาญใจและรบกวนทัศนวิสัยในการมองเห็น

แม้ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับอาการของผู้ป่วยโรคตาแดง แต่โรคภูมิแพ้ตาไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอย่างไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ที่จะทำปฏิกิริยาต่อผู้ที่แพ้เท่านั้น

สาเหตุของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมที่รับเข้ามา ด้วยการขับสารตัวกลางออกมาต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น และสารตัวกลางนั้นก็ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้แก่ร่างกายด้วย การเกิดโรคภูมิแพ้เป็นเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อบางสิ่งที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่เป็นอันตรายต่อตัวบุคคลที่แพ้เท่านั้น

สารที่ร่างกายรับเข้ามาและกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ด้วยการแสดงอาการแพ้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสารภูมิต้านทานซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเลือด มีหน้าที่คอยป้องกัน รวมทั้งขจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่ผู้ป่วยแพ้

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่ มักแพ้อาหารจำพวกไข่ นม ถั่ว ปลาและอาหารทะเล การแพ้อาหารจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารชนิดนั้นเท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้ป่วยจะไม่ปรากฏอาการแพ้

สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยจากภูมิแพ้จมูกหรือภูมิแพ้อากาศ มักมาจากไรฝุ่น เชื้อรา หญ้า ละอองเกสร ขนสัตว์ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ

สารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังมีหลายชนิด เช่น สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ถุงมือยาง ยาย้อมสีผม โลหะ เงิน หรือแม้แต่ผงฝุ่นหรือเชื้อโรคที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ

ส่วนภูมิแพ้ตา มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่น ควัน สารเคมี ละอองเกสร ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศและกระแสลม เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุดวงตา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและมีอาการแพ้ที่แสดงออกทางดวงตาในหลายรูปแบบ

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้

เพื่อตรวจหาโรคภูมิแพ้และหาแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แพทย์จะวินิจฉัยตามกระบวนการเหล่านี้

ซักประวัติ – ในการตรวจเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติและอาการแพ้ของผู้ป่วย แพทย์ต้องทราบสภาพแวดล้อมบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ที่ทำงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้ รวมทั้งซักประวัติการแพ้ในอดีตของผู้ป่วย หรือมีญาติใกล้ชิดที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้

ตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจร่างกายภายนอกว่ามีอาการแสดงใดบ้างที่บ่งชี้ถึงโรคภูมิแพ้ ได้แก่ ตรวจตา จมูก ลำคอ ช่วงอก และผิวหนังทั่วไป ในบางรายอาจต้องตรวจการทำงานของปอดด้วยเครื่องเป่าลม หรืออาจต้องเอกซเรย์เพื่อดูการทำงานของปอดร่วมด้วย

ชุดทดสอบภูมิแพ้ – แพทย์จะใช้ชุดทดสอบภูมิแพ้เพื่อทดสอบอาการแพ้ของผู้ป่วย ชุดทดสอบที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ คือ การสะกิดแล้วหยดสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test) การฉีดสารก่อภูมิแพ้ (Skin Injection Test) และ การติดแผ่นทดสอบสารก่อภูมิแพ้ (Patch Test)

Skin Prick Test เป็นชุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพทย์จะใช้ปลายเข็มสะกิดบริเวณผิวหนัง เช่น ที่ปลายแขน แล้วหยดหรือทาสารก่อภูมิแพ้ลงไปเล็กน้อย หากผู้ป่วยแพ้ต่อสารใด บริเวณที่ถูกสารนั้นจะมีตุ่มนูนแดงปรากฏขึ้นมาภายในเวลาประมาณ 15 นาที

Skin Injection Test แพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายเข้าสู่ผิวหนัง แล้วรอดูผลว่ามีอาการแพ้ต่อสารใดหรือไม่ประมาณ 15 นาที

Patch Test เป็นชุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเช่นกัน โดยแพทย์จะติดแผ่นทดสอบซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้หลายชนิดหลาย ๆ แผ่นลงบนผิวหนังบริเวณผิวหนัง ผู้ป่วยต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรม ไม่ให้มีเหงื่อไหลหรือไม่ให้มีของเหลวโดนแผ่นทดสอบเป็นเวลา 2 วัน แล้วจึงกลับมาพบแพทย์เพื่อดูผลการทดสอบ

การรักษาโรคภูมิแพ้

ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการแพ้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งหรือการแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการแพ้ที่รุนแรง

ด้านการรักษาด้วยยา ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารจะได้รับยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ป้องกันไม่ให้สารฮิสตามีนทำงาน ซึ่งฮิสตามีนเป็นสารที่หลั่งเมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย โดยสารนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ อย่างการเกิดผื่นคัน ผื่นแดงตามผิวหนัง ยาอะดรีนาลีน(Adrenaline) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะช่วยลดอาการบวมของกล่องเสียงและหลอดลมที่เป็นเหตุทำให้หายใจติดขัด ส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบการฉีดตัวยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ใช้ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ช่วยลดอาการคัดจมูกและการหายใจติดขัด มีทั้งรูปแบบหยอดจมูกและยาเม็ดรับประทาน ยาพ่นสเตียรอยด์ลดอาการอักเสบ อาการบวมและการเกิดน้ำมูกอุดตันในโพรงจมูก และยาทาสเตียรอยด์รูปแบบครีมที่ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการแพ้และมีผดผื่นคัน ตัวยาจะช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและช่วยไม่ให้ผดผื่นคันขยายไปเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังมีวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปปริมาณเล็กน้อย ทำให้ร่างกายค่อย ๆ คุ้นเคยกับสารและทำให้การแพ้สารนั้นทุเลาลงจนหายขาด เป็นวิธีการฉีดสารก่อภูมิแพ้อย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉีดสารเป็นระยะอย่างต่อเนื่องหลายปีตามความรุนแรงของอาการแพ้และตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจต้องเผชิญกับอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือมีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น

โรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นเต็มตัวและมีอาการคันตลอดเวลา เป็นลมพิษ หน้าซีดหรือหน้าแดง คอบวม แน่นหน้าอก หายใจติดขัด อาเจียน ท้องร่วง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร แพ้แมลง และแพ้ยา

โรคหอบหืด ผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนทั่วไป โดยมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจเสียงดัง ไอ แน่นหน้าอกหรือเจ็บที่หน้าอก มีปัญหาในการนอนเนื่องจากการหายใจที่ผิดปกติ ทำให้นอนยากหรือนอนแล้วรู้สึกตัวขึ้นกลางดึก หอบหืดเกิดจากมีสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในปอด ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ หลอดลมอักเสบ พบมากในผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศซึ่งเป็นการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง

อีกหนึ่งอาการที่พบมากในผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศ คือ ไซนัสอักเสบ โดยมีอาการคือ ปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก รอบตา หัวคิ้ว ข้างจมูก คัดจมูก มีน้ำมูกและเสมหะสีเขียวข้น ไอ มีไข้ หายใจลำบาก

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจมีอาการป่วยและโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นอีก เช่น ผิวหนังอักเสบ กลาก การติดเชื้อในหูชั้นกลาง การติดเชื้อในปอด เป็นต้น

การป้องกันโรคภูมิแพ้

การลดความเสี่ยงในการเกิดโรค คือการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี

โรคภูมิแพ้เป็นโรคไม่ติดต่อ และจะเกิดกับผู้ที่ร่างกายแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เท่านั้น ดังนั้น การป้องกันส่วนใหญ่จึงเป็นวิธีการสำหรับผู้ป่วยที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ หรือไม่ให้อาการแพ้นั้นกำเริบรุนแรง ดังนี้
– หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว

– ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเผชิญกับสิ่งที่มีสารที่ตนแพ้ เช่น ผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำมาจากสัตว์ทะเลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป อาหารสด หรืออาหารแห้ง

– ผู้ที่แพ้ฝุ่นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางบนท้องถนนที่มีฝุ่นควัน ไม่ลดกระจกลงขณะโดยสารอยู่บนรถ หลีกเลี่ยงการเดินผ่านเขตบริเวณที่มีการก่อสร้าง และดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านและห้องนอน ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดเข้าถึง เพื่อป้องกันการสะสมฝุ่นและไรฝุ่นที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

เขียนบันทึก ลงบันทึกประจำวันว่าทำกิจกรรมอะไรหรือรับประทานอะไรแล้วมีอาการอย่างไร เป็นการศึกษาอาการแพ้ รวมถึงให้ทราบสิ่งที่แพ้และสิ่งที่ไม่แพ้ เพื่อการวางแผนรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
กินยา ยาจะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการแพ้ โดยผู้ป่วยภูมิแพ้ต้องกินยาตามที่แพทย์กำหนด ไม่หยุดใช้ยาโดยพลการ เพราะอาจมีผลข้างเคียง มีอาการดื้อยา หรือมีอาการแพ้ที่กำเริบขึ้น
เตรียมการในภาวะฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรแจ้งอาการป่วยของตนกับบุคคลใกล้ชิด สวมใส่สร้อยคอหรือสร้อยข้อมือแพทย์เตือนที่จะสื่อให้ผู้อื่นทราบถึงอาการแพ้กำเริบในกรณีฉุกเฉินที่มีอาการจนไม่สามารถพูดสื่อสารได้ หรือในบางราย แพทย์จะให้ผู้ป่วยพกยาฉีดเอพิเนฟรินสำหรับฉีดรักษาด้วยตนเองหากอาการกำเริบ และเตรียมเบอร์โทรฉุกเฉินที่จำเป็นไว้ในกรณีเร่งด่วนเสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.pobpad.com

เครื่องดูดไรฝุ่น SIRENA เครื่องดูดฝุ่นครบเครื่องดูดได้ทั้งบ้าน เครื่องดูดไรฝุ่น ทำงานด้วยระบบน้ำ มีครบทุกฟังค์ชั่นฟอกอากาศบริสุทธิ์ สามารถกำจัดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย ที่ลอยอยู่ในอากาศ และกำจัดไรฝุ่นได้ 100% อ่านต่อ คลิก

Facebook
Twitter
Pinterest
WhatsApp
Tags
omicron PM2.5 robotic vacuum cleaner sirena กำจัดกลิ่น กำจัดขนสัตว์ กำจัดไรฝุ่น กำจัดไรฝุ่นบนที่นอน กำจัดไรฝุ่นอย่างไร ดูดขนสัตว์ ดูดไรฝุ่น ทำความสะอาดขนสัตว์เลี้ยง ทำความสะอาดพรม ที่นอนมีไรฝุ่น ฝุ่น ภูมิแพ้ ยาแก้แพ้อากาศ วัคซีนโควิด วิธีกำจัดไรฝุ่น วิธีรักษาภูมิแพ้ สุขภาพ หมอภูมิแพ้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เครื่องกำจัดไรฝุ่น เครื่องดูดกลิ่น เครื่องดูดขนสุนัข เครื่องดูดขนแมว เครื่องดูดฝุ่น เครื่องดูดฝุ่น sirena เครื่องดูดฝุ่นซิเรน่า เครื่องดูดฝุ่นระบบน้ำ เครื่องดูดไรฝุ่น เครื่องทำความสะอาด เครื่องทำความสะอาดเทคโนโลยีล่าสุด ดักจับสิ่งสกปรกด้วยน้ำ กำจัดไรฝุ่น ที่แฝงตัวอยู่ตามที่ต่างๆในบ้านของคุณได้อย่างหมดจด เครื่องฟอกอากาศ แพ้ไรฝุ่น โควิด โควิด 19 โรคภูมิแพ้ โอไมครอน ไรฝุ่น ไรฝุ่นกัด ไรฝุ่นบนที่นอน ไรฝุ่นศิริราช ไรฝุ่นศิริราชรับรอง